วิธีจัดการซากบรรจุภัณฑ์เคมีอย่างปลอดภัย

10944 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิธีจัดการซากบรรจุภัณฑ์เคมีอย่างปลอดภัย

บรรจุภัณฑ์เคมี หรือ บรรจุภัณฑ์ใส่สารเคมี ถือเป็นหนึ่งในบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในวงการก่อสร้างและการเกษตร ซึ่งสารเคมีที่นิยมนำมาใส่ในบรรจุภัณฑ์นั้น มีทั้งสารเคมีสำหรับการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช สารเคมีทำความสะอาด สารเคมีที่ใช้งานก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น โดยหลังจากที่ผ่านการใช้งานแล้ว มักจะมีซากบรรจุภัณฑ์เคมีจำพวกนี้เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น แกลลอนพลาสติก ถังพลาสติก หรือกระทั่งขวดพลาสติก การจะนำบรรจุภัณฑ์เคมีเหล่านี้ไปกำจัด ถือเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังและต้องศึกษาวิธีการให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนอันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

การกำจัดบรรจุภัณฑ์เคมีอย่างปลอดภัย มีวิธีการจัดการที่แตกต่างจากบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นๆ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ด้วยคุณสมบัติของสารเคมีที่บรรจุไว้ในบรรจุภัณฑ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ยิ่งมีความอันตรายมากเท่าไหร่ ทั้งข้อห้าม และข้อจำกัดก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

มาดูกันว่า วิธีจัดการซากบรรจุภัณฑ์เคมีอย่างปลอดภัย มีอะไรบ้าง

 

การจัดการ บรรจุภัณฑ์เคมี อย่างปลอดภัย มีอะไรบ้าง?

ก่อนจะไปถึงเรื่องการกำจัด เรามาดูกันก่อนว่า บรรจุภัณฑ์เคมี ประเภทไหน เข้าข่ายบรรจุภัณฑ์อันตรายที่ต้องคัดแยกออกมาก่อนการกำจัด เพื่อความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมที่ดี ห่างไกลจากสารปนเปื้อนจากบรรจุภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสารเคมีที่อยู่ใกล้ตัวทั้งสิ้น



บรรจุภัณฑ์อะไรบ้าง ที่นับว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่สารเคมี?

  1. บรรจุภัณฑ์ใส่สารเคมีทางการเกษตร เช่น น้ำยากำจัดโรคพืช น้ำยากำจัดแมลงและศัตรูพืช หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปุ๋ยเคมี และสารเคมีอื่นๆ ทางการเกษตร เป็นต้น
  2. บรรจุภัณฑ์ใส่สารเคมี กลุ่มเคมีก่อสร้าง เช่น น้ำยาทารองพื้น น้ำยาทากันน้ำ น้ำยาเคลือบเงา น้ำยาประสานและเพิ่มคุณภาพคอนกรีน น้ำยาเพิ่มการยึดเกาะ เป็นต้น
  3. บรรจุภัณฑ์ใส่สารเคมี ประเภทน้ำยาทำความอาด เช่น น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ น้ำยากำจัดปลวก น้ำยากำจัดสนิม น้ำยากำจัดเชื้อรา น้ำยากำจัดตะไคร่น้ำ เป็นต้น
  4. บรรจุภัณฑ์ใส่สารเคมีประเภทอื่นๆ เช่นในน้ำยาที่ใช้ในวงการการแพทย์ วิทยาศาสตร์ ความงาม

ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์เคมีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ขวดใส่สารเคมี ถังใส่สารเคมี แกลลอนใส่สารเคมี 

 
การกำจัดบรรจุภัณฑ์เคมี ต้องทำอย่างไรบ้าง?




สิ่งแรกที่ควรทำในการกำจัดซากบรรจุภัณฑ์เคมีอย่างปลอดภัย คือการแต่งตัวให้รัดกุม เหมาะสม และการทำความสะอาดร่างกายอย่างละเอียดหลังจากการทำงานร่วมกับสารเหล่านี้ เมื่อแน่ใจว่าการแต่งกายเหมาะสมที่จะกำจัดหรือสัมผัสกับสารเคมีเหล่านั้นแล้ว ควรปฏิบัติตามวิธีการต่อไปนี้
  1. ในกรณีที่เป็นสารเคมีทั่วไป เช่น สารเคมีที่ใช้ทางการเกษตร สารเคมีสำหรับเช็ดล้างทำความสะอาด ไม่ใช่สารเคมีต้องห้ามหรือสารเคมีอันตราย เราสามารถนำบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นกลับมาใช้งานใหม่ได้อีกครั้ง โดยการเช็ดล้างทำความสะอาดสารเคมีภายในบรรจุภัณฑ์ให้สะอาดก่อนส่งไปรีไซเคิล

    วิธีการล้างสารเคมีภายในบรรจุภัณฑ์ สามารถได้โดยการชำระล้างสามครั้ง (Triple Rinsing) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในหลายหน่วยงานทั่วโลก ว่าสามารถลดปริมาณสารตกค้างในบรรจุภัณฑ์ได้ถึง 99.99% และยังช่วยลดอันตรายจากการปนเปื้อนของสารเคมีต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมได้ แต่ไม่ควรนำกลับไปใช้ในวงการที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค การรักษา และความงาม เพราะอาจทำให้เกิดอันตราย

  2. หรือหากไม่ต้องการนำบรรจุภัณฑ์เคมีกลับมาใช้งานอีก ควรทำลายภาชนะบรรจุโดยการตัด ทุบทำลาย หรือเจาะรู เพื่อทำให้อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้อีกครั้ง แล้วคัดแยกไปทิ้งตามประเภทขยะของบรรจุภัณฑ์นั้นๆ อย่างเหมาะสม

  3. ในกรณีที่เป็นสารเคมีต้องห้ามหรือสารเคมีอันตราย เช่น วัตถุไวไฟ วัตถุกัดกร่อน ก๊าซ วัตถุมีพิษหรือติดเชื้อ ควรกำจัดทิ้งด้วยการคัดแยกเป็นขยะอันตราย แล้วรวบรวมนำไปทิ้งในถังขยะฝาสีแดงที่มีสัญลักษณ์ของขยะอันตราย ซึ่งขยะดังกล่าวจะถูกหน่วยงานกำจัดขยะเก็บรวบรวมไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดของเสียต่อไป เพื่อความปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

  4. ไม่ควรฝังหรือเผาบรรจุภัณฑ์เคมี เพราะการฝัง มีโอกาสที่สารเคมีในบรรจุภัณฑ์จะปนเปื้อนสู่ดินและแหล่งน้ำ กลายเป็นมลพิษและสารก่อมะเร็งในระยะยาวได้ อีกทั้งการเผาทำลายยังอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง เช่น เกิดไฟลุกไหม้ หรืออาจทำให้เกิดการระเบิดได้ จึงควรให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดขยะอันตรายเป็นคนรับผิดชอบนำไปกำจัดทิ้งอย่างเหมาะสม
นอกจากวิธีที่นำเสนอไปข้างต้น การกำจัดและรียูสบรรจุภัณฑ์เคมี ยังสามารถทำได้อีกหลากหลายวิธีการ ซึ่งทุกวิธีการต้องอาศัยความระมัดระวัง และละเอียดถี่ถ้วนในทุกขั้นตอนการจัดการ เพื่อไม่ให้สารเคมีในบรรจุภัณฑ์ออกมาปนเปื้อน สร้างความเสียหายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำมาซึ่งปัญหามากมายในอนาคต

มาจัดการซากบรรจุภัณฑ์เคมีอย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและสังคม

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก :
http://www.mitrpholmodernfarm.com 
http://www.nicaonline.com/webboard/index.php?topic=30225.0;wap2 


สินค้าที่เกี่ยวข้อง : แกลลอนใส่สารเคมีถังใส่สารเคมี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้